ในยุคนี้สมัยนี้หลายคนที่ทำงานในบริษัท องค์กรเอกชน หน่วยงานราชการหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวก็ตามต่างก็ทุ่มเทให้กับงานเพื่อให้คุ้มค่าแรงหรือคุ้มกับค่าจ้างหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าแรงหรือรายได้เพิ่มเพื่อให้เหมาะสมและดำรงอยู่ให้ได้ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงที่มีค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หากคนไหนที่ทำงานภาคปฏิบัติอยู่หน้างานก็อาจมีโอกาสออกกำลังกายไปในตัวโดยปริยายได้ แต่หากใครที่นั่งทำงานอยู่กับโต๊ะเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ  แบบที่วันทั้งวันแทบไม่ได้ลุกจากโต๊ะไปไหน หากไม่ไปทานช้าว เข้าห้องน้ำ ประชุม หรือเลิกงานกลับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่โรคโควิดสิบเก้ากำลังระบาดอย่างหนักเป็นระลอกที่สามแล้ว ดังนั้นการทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ work from home ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำไปโดยปริยายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามวิถีชีวิตแนวใหม่แบบ New normal ที่ชีวิตนั้นอยู่แต่ในห้องหรืออยู่แต่ในบ้านและทำงานอยู่ตลอดวลาโดยไม่ได้ออกไปไหนไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นใดและไม่ได้ออกกำลังกายสักเท่าใดนัก ซึ่งในการสั่งอาหารก็สามารถสั่งแบบเดลิเวรี่ให้มาส่งถึงบ้านได้เลยอย่างสะดวกโยธิน แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยปัญหาที่ว่านี้ก็คือการเกิดอาการของโรค “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) ซึ่งเป็นโรคสมัยใหม่ตามสมัยนิยมของวิถีชีวิตในปัจจุบัน

Hard working - สาเหตุของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Behaviours)

          1. สาเหตุของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Behaviours)

              การเกิดอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นสืบเนื่องมากจากการนั่งทำงานในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในท่าทางแบบเดิม ๆ เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการยืดเส้นยืดสาย หรือขยับปรับเปลี่ยนท่าทางของร่างกายเพื่อให้มีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สื่อสารนานเกินไปทำให้มีปัญหาด้านสายตามีอาการปวดตาสายตาพร่ามัว ตลอดจนการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนในห้องทำงานที่แออัด ระบบการถ่ายเทอากาศภายในห้องไม่ดีเท่าที่ควร มีการใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่สูงหรือต่ำจนเกินไปอย่างไม่เหมาะสมกับท่าทางหรือสรีระโครงสร้างของร่างกาย แม้กระทั่งบรรยากาศหรือสังคมในการทำงานไม่เป็นไปในทิศทางบวกอย่างไม่เหมาะสมต่อการทำงานซึ่งก่อให้เกิดความเครียดต่อผู้ทำงานขึ้นมา รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเนื่องมาจากการทำงานหนักและหักโหมมากเกินไป ซึ่งก็เป็นสาเหตุใหญ่ในการเกิดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

illness - ลักษณะอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม (Conditions)

          2. ลักษณะอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม (Conditions)

              อาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดขึ้นในแต่ละรายอาจมีอาการที่แตกต่างกัน โดยบางรายอาจมีอาการปวดหัวธรรมดาหรืออาจมีอาการปวดหัวไมเกรนจากความเครียดสะสม หรืออาจปวดตึงทั้งที่สะบัก คอ ท้ายทอย บ่า หรือไหล่ไล่มาปวดที่หลัง บ้างก็มีอาการปวดแขน ปวดมือ ปวดเข่า ปวดขา หรือปวดเท้าจากการที่มีท่าทางในการนั่งทำงานอย่างไม่ถูกสุขลักษณะเรียกว่าปวดไปทั่วทั้งสรรพางค์กายเลยก็ว่าได้แล้วแต่ว่า ณ เวลานั้นจะปวดตรงไหนขึ้นมา โดยจะมีอาการปวดตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง บางรายก็มีอาการหูอื้อ ตาพร่ามัวสู้แสงไม่ได้ ปวดแสบตาน้ำตาไหล หรือบ้างก็แสบคอ คอแห้งจากการที่ใช้สายตาจ้องมอนิเตอร์ จอคอมฯ หรือจอเครื่องมือสื่อสารมากเกินไป เพราะในบางครั้งจ้องจอคอมฯ ทำงานเสร็จก็พักด้วยการใช่สื่อโซเชี่ยลด้วยอุปกรณ์สื่อสารอีกก็เลยไปกันใหญ่

Excercise - การแก้ไขปัญหาโรคออฟฟิศซินโดรม (Solving)

          3. การแก้ไขปัญหาโรคออฟฟิศซินโดรม (Solving)

              โรคออฟฟิศซินโดรมนั้ันแม้ว่าอาจจะไม่มีอันตรายร้ายแรงในเบื้องต้นมากมายนัก แต่หากเกิดนาน ๆ สะสมต่อเนื่องไปในระยะยาวก็จะทำให้เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นรุนแรงขึ้นมาได้จึงควรป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งการบำบัดอย่างเห็นผลได้ชะงัดในเบื้องต้นทันทีก็คือรับประทานยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อที่พอจะทำให้รู้สึกดีขึ้นมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นก็มาปรับเปลี่ยนพื้นที่ สภาพแวดล้อมในการทำงานและลักษณะท่าทางในการทำงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ควรปรับความสว่างและสีของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมพอดีกับสายตาให้มากที่สุด ส่วนโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานก็อย่าให้สูงหรือต่ำจนเกินไปต้องเลือกซื้อเลือกใช้ที่เหมาะกับสรีระและโครงสร้างของร่างกาย รวมถึงควรนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงด้านหลัง หรือไม่ก็อาจจะใช้หมอนหนุนด้านหลังเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสบายในการนั่งทำงาน ซึ่งในระหว่างนั้นก็ให้หมั่นบิดขี้เกียจปรับเปลี่ยนอิริยาบถให้บ่อยครั้ง รวมทั้งให้หมั่นกระพริบตาและพักสายตาทุก ๆ 15-20 นาที ที่สำคัญไม่ควรนั่งทำงานนานติดต่อกันมากจนเกินไปโดยอาจมีลุกขึ้นมาเดินสะบัดแขนสะบัดแข้งสะบัดขายืดเส้นยืดสายหรืออาจมองดูต้นไม้เขียว ๆ ท้องฟ้าใส ๆ จากกระจกหรือหน้าต่างของห้องทำงาน หรือหลับตาสักครู่เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดศีรษะและความเครีบดสะสมจากการใช้สายตามากจนเกินไป รวมถึงลดการใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารเป็นเวลานาน ๆ ด้วย เพราะหากพักสายตาจากจอคอมฯ แต่มาจ้องหรือมาคุยมือถือต่อมันก็คงไม่ได้ผลสักเท่าใดนักและหากมีอาการเมื่อยล้าดวงตาก็ต้องนวดคลึงอย่างเบามือรอบดวงตาและกรอกสายตารอบ ๆ เป็นวงกลมไปมาพร้อมกับใช้ปลายนิ้วคลึงที่หัวตาสองข้างเบาๆ ร่วมด้วยเช่นกันจะทำให้รู้สึกดีขึ้น

              ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ หากการทำงานนั้นทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองที่เพิ่มพูนเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็แลกมาด้วยแรงกายแรงใจโดยเฉพาะสังขารหรือสภาพร่างกายของตัวเราเอง หากไม่หมั่นดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จนลุกลามรุนแรงขึ้นในระยะยาวก็อาจจะแก้ไขอะไรไม่ทัน ดีไม่ดีการทำงานมาทั้งชีวิตให้มีรายได้เพื่อให้มีความสุขสบายในบั้นปลายชีวิตแต่กลับต้องควักเอาออกมาใช้ในการรักษาตัวเองแทน บางครั้งกรณีเส้นผมบังภูเขาหรือการเด็ดดอกไม้แล้วสะเทือนถึงดวงดาวมันก็ตลกร้ายไม่น้อยจนดูเหมือนกับว่ากลายเป็นตัวเราที่ทำร้ายตัวเราเองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งวิธีการในการป้องกันการเกิดอาการ “Office Syndrome” ที่ดีที่สุดก็คือหมั่นออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จากนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมในการทำงาน ต่อด้วยการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมก็จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นอย่างสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง "เอาล่ะ! ได้เวลารึยังเอ่ย..มา ๆ! มาเริ่มต้นในการรักและดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนี้กันเลยดีกว่า..Here we go!!"

              เรื่องโดย  นรชนไท

              เครดิตภาพ

             ภาพปก  โดย Ron Lach จาก Pexels

             ภาพที่ 1  โดย Ron Lach จาก Pexels

             ภาพที่ 2  โดย Ron Lach จาก Pexels

             ภาพที่ 3  โดย Elly Fairytale จาก Pexels